วันพฤหัสบดีที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

รู้ทันโรคภัย

รู้ทันโรคภัย
ชีวิตดี เริ่มต้นที่สุขภาพดี

โรคเข่าเสื่อม

เข่าเสื่อม
เข่าเสื่อมเป็นโรคที่พบได้บ่อย ในคนสูงอายุและคนอ้วน มักจะเป็นเรื้อรังตลอดชีวิต แต่ไม่มีอันตรายร้ายแรง นอกจากอาการปวดทรมาน เดินไม่ถนัด ขาโก่ง เข่าทรุด อันตรายร้ายแรงมักเกิดจากการใช้ยาอย่างผิดๆ ดังนั้น จึงต้องเรียนรู้วิธีอยู่กับโรคนี้อย่างมีความสุขและปลอดภัย
ชื่อภาษาไทย เข่าเสื่อม, ข้อเข่าเสื่อม
ชื่อภาษาอังกฤษ Osteoarthritis
สาเหตุ เกิดจากการเสื่อมชำรุดหรือการสึกหรอ ของข้อเข่า ซึ่งเป็นผลมาจากการใช้งานมาก การบาดเจ็บ หรือมีแรงกระทบกระแทกต่อข้อมาก (เช่น น้ำหนักมาก เล่นกีฬาหนักๆ) ทำให้กระดูกอ่อนที่บุอยู่ตรงบริเวณผิวข้อต่อสึกหรอ และเกิดกระบวนการซ่อมแซม ทำให้มีปุ่มกระดูกงอกรอบๆ ข้อต่อ ปุ่มกระดูกที่งอกบางส่วน จะหักหลุดเข้าไปในข้อต่อ ทำให้ขัดขวางการเคลื่อนไหวของข้อต่อ และข้อต่อมีเสียงดังเวลาเคลื่อนไหว

การงอเข่า เช่น นั่งยองๆ นั่งขัดสมาธิ นั่งพับเพียบ การเดินขึ้นลงบันได เป็นต้น จะทำให้เกิดแรง กดดันที่ข้อต่อ เป็นเหตุให้ผิวข้อเสื่อมได้เช่นกัน

เมื่อข้อเข่าเสื่อม ก็จะส่งผลให้กล้ามเนื้อและเส้นเอ็นรอบๆ ข้อเข่ามีการอักเสบและอ่อนแอร่วมไปด้วย ทำให้เกิดอาการปวดเข่า เข่าอ่อน (เข่าทรุด) และเมื่อเป็นมากๆก็จะทำให้เกิดอาการขาโก่ง

โรคเข่าเสื่อม จึงพบมากในคนสูงอายุ (มักพบในผู้หญิงอายุมากกว่า 55 ปีขึ้นไป) คนอ้วน คนที่เล่นกีฬาที่มีการกระแทกของข้อเข่ารุนแรง คนที่ชอบนั่งงอเข่า หรือต้องเดินขึ้น-ลงบันไดบ่อย
อาการ ผู้ที่มีข้อเข่าเสื่อมอาจมีอาการผิดปกติที่เข่าข้างเดียว หรือ 2 ข้างก็ได้

อาการที่พบบ่อยก็คือ อาการปวดเวลาเคลื่อน-ไหวข้อเข่า

จะลุกจะนั่งจะรู้สึกขัดยอกในข้อเข่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลาเดินขึ้น-ลงบันได หรือเวลานั่งงอเข่านานๆ

เวลาขยับ หรือเคลื่อนไหวข้อเข่า จะมีเสียงดังกรอบแกรบในข้อเข่า มักจะเกิดจากการเสียดสีของผิวข้อต่อที่ขรุขระ และจะมีการสะดุด หรือติดขัดในข้อ เนื่องจากเศษกระดูกงอกหักหลุดเข้าไปขัดขวางในข้อต่อ

ผู้ที่มีกล้ามเนื้อรอบๆเข่าอ่อนแรง ก็จะมีอาการเข่าอ่อน เข่าทรุด บางครั้งอาจทำให้เกิดการพลัดตกหกล้มได้

เมื่อเข่าเสื่อมรุนแรง ผู้ป่วยจะมีอาการขาโก่ง เดินไม่ถนัด เดินคล้ายขาสั้นข้างยาวข้าง (ลงน้ำหนักไม่เต็มที่ หรือเอนตัวเพราะเจ็บเข่าข้างหนึ่ง) บางคนเดินกะเผลกหรือโยนตัวเอนไปมา บางคนอาจงอเหยียดเข่าลำบาก หรือกล้ามเนื้อขาลีบลง

ในรายที่มีข้อเข่าอักเสบมาก นอกจากปวดเข่า รุนแรงแล้ว ยังมีอาการบวมของข้อเข่าร่วมด้วย อันเนื่องมาจาก ข้อมีการผลิตน้ำในข้อมากขึ้นกว่าปกติ

อาการปวดเข่า เข่าอักเสบ อาจเกิดจากสาเหตุอื่นๆ เช่น
    1. กล้ามเนื้อหรือเส้นเอ็นเข่าอักเสบ ส่วนใหญ่เกิดจากการบาดเจ็บ โดยเฉพาะจากการวิ่งออกกำลังกายหรือปั่นจักรยานที่ไม่ถูกหลัก มักพบในคนทุกวัย และเป็นอยู่ไม่นาน เมื่อได้รับการรักษาก็จะหายขาดได้
    2. เกาต์ มักจะปวดรุนแรง และข้อมีลักษณะบวมแดงร้อน ซึ่งเกิดขึ้นฉับพลัน หลังกินเลี้ยง ดื่มเหล้า หรือกินอาหารที่ให้สารยูริกสูง บางคนอาจมีไข้ร่วมด้วย หากสงสัยควรเจาะเลือดตรวจดูระดับยูริกในเลือด ซึ่งจะพบว่าสูงผิดปกติ
    3. ไข้รูมาติก พบมากในเด็กอายุ 5-15 ปี จะมีอาการปวดข้อ ข้ออักเสบบวมแดงร้อน มีไข้ร่วมด้วย บางคนอาจมีประวัติเป็นไข้และเจ็บคอ (ทอนซิลอักเสบ) ก่อนปวดข้อ 1-4 สัปดาห์ หากสงสัยควรรีบไปพบแพทย์
การวินิจฉัย แพทย์มักจะวินิจฉัยจากอาการของผู้ป่วย ได้แก่ อาการปวดเข่าเวลาเคลื่อนไหว ข้อเข่า ข้อเข่ามีเสียงดังกรอบแกรบเวลาเคลื่อนไหว ซึ่งพบในคนสูงอายุ หรือคนอ้วน ในรายที่ไม่แน่ใจ อาจต้องเอกซเรย์ข้อเข่า จะพบลักษณะเสื่อมของข้อเข่า

การดูแลตนเอง เมื่อมีอาการปวดเข่า ให้ดูแล ตัวเองเบื้องต้น ดังนี้
    1. หลีกเลี่ยงท่าที่ทำให้ปวดเข่า ได้แก่ การนั่งงอเข่า เช่น นั่งยองๆ นั่งสมาธิ นั่งพับเพียบ เป็นต้น ควรนั่งเก้าอี้ แทนการนั่งพื้น
    2. หลีกเลี่ยงการเดินขึ้นบันได ถ้าปวดเข่าข้างเดียว เวลาเดินขึ้นบันได ให้เดินขึ้นทีละขั้น โดยก้าวขาข้างดี (ไม่ปวด) ขึ้นก่อน แล้วยกขาข้างที่ปวดขึ้นตามไปวางบนขั้นที่ขาดีวางอยู่ (อย่าก้าวข้ามไป อีกขั้นหนึ่ง) ส่วนขาลงบันได ก็ก้าวขาข้างที่ปวด ลงก่อน แล้วก้าวขาดีตาม การเดินขึ้น-ลงบันได ทีละขั้นแบบนี้ ขาข้างที่ปวด จะไม่มีการงอเข่า จึงลดการปวดลงได้
    3. ควรเปลี่ยนอิริยาบถจากนั่งเป็นยืน และ จากยืนเป็นนั่งสลับก่อนบ่อยๆเข้าจะได้ไม่ติดขัดมาก
    4. ถ้าปวดเข่ามาก ประคบด้วยผ้าชุบน้ำร้อน หรือลูกประคบ และกินยาพาราเซตามอล ครั้งละ 1-2 เม็ด บรรเทาปวด ซ้ำได้ทุก 6 ชั่วโมง
    5. ถ้าเดินแล้วรู้สึกปวดเข่า หรือเข่าทรุด ควรใช้ไม้เท้าช่วย หรือมีราวเกาะ
    6. ถ้าน้ำหนักมาก ควรหาทางลดน้ำหนัก โดยการควบคุมอาหาร และออกกำลังกายให้มากขึ้น (เช่น เดินเร็ว ปั่นจักรยาน วิ่งเหยาะๆ)
    7. เมื่ออาการปวดเข่าทุเลาแล้ว ควรบริหารกล้ามเนื้อเข่าอย่างสม่ำเสมอ เริ่มแรกไม่ต้องถ่วง น้ำหนัก ต่อไปค่อยๆ ถ่วงน้ำหนัก (เช่น ใส่ถุงทราย หรือขวดน้ำใส่ในถุงพลาสติก) ที่ปลายเท้า เริ่มจาก 0.3 กิโลกรัม เป็น 0.5 กิโลกรัม, 0.7 กิโลกรัม และ 1 กิโลกรัม โดยเพิ่มไปเรื่อยๆ ทุก 2-3 สัปดาห์ จนยกได้ 2-3 กิโลกรัม ข้อเข่าก็จะแข็งแรง และลดอาการปวด
    8. ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาชุด หรือยาลูกกลอน ยาเหล่านี้แม้ว่าอาจจะช่วยบรรเทาปวดได้ดี แต่มักมีตัวยาอันตราย (เช่น สตีรอยด์) ผสม ซึ่งก่อให้เกิดผลร้ายแรงตามมาได้
ควรไปพบแพทย์ เมื่อมีลักษณะข้อใดข้อหนึ่งดังต่อไปนี้
    1. มีไข้
    2. ข้อเข่าบวม หรือมีลักษณะแดงร้อน
    3. สงสัยเป็นโรคเกาต์ ไข้รูมาติก หรือโรคอื่นๆ
    4. ดูแลตนเอง ๑-๒ สัปดาห์แล้วยังไม่ทุเลา
    5. มีความวิตกกังวล หรือไม่มั่นใจที่จะดูแลรักษาตนเอง
การรักษา เมื่อไปพบแพทย์ แพทย์จะทำการวินิจฉัยโดยการซักถามอาการและตรวจร่างกายเป็นหลัก ในบางรายอาจต้องทำการเอกซเรย์

เมื่อพบว่าเป็นโรคเข่าเสื่อม แพทย์จะแนะนำการปฏิบัติตัวต่างๆ ที่สำคัญ ได้แก่ การหลีกเลี่ยงการนั่งงอเข่า รวมทั้งการ นั่งซักผ้า การนั่งส้วมยองๆ (ควรหันมาใช้ส้วมชักโครกแทน หรือใช้ เก้าอี้เจาะช่องตรงกลางนั่งคร่อม บนส้วมซึม) การเดินขึ้น-ลงบันได การลดน้ำหนักตัว การออกกำลังกาย การบริหารกล้ามเนื้อเข่า การใช้ไม้เท้าช่วยเดิน การสร้างราวเกาะป้องกันการหกล้ม เพราะเข่าอ่อน เข่าทรุด

ถ้าปวดเข่าไม่มาก แพทย์อาจให้กินยาพาราเซตา-มอล (เพราะไม่มีผลต่อการเกิดโรคแผลในกระเพาะ) ถ้าเป็นมาก อาจให้ยาบรรเทาปวด ชนิดแรง เช่น ทรามาดอล (tramadol) กินบรรเทาเป็นครั้งคราว

ถ้าปวดเข่ามาก อาจให้ยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่ สตีรอยด์ (เช่น ไอบูโพรเฟน) ยานี้นอกจากบรรเทาปวดแล้ว ยังช่วยลดการอักเสบของข้อและกล้าม- เนื้อ แต่มีข้อเสีย คือ กินติดต่อกันนานๆ จะทำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหารได้ ถ้าจำเป็นต้องใช้ ยานี้กินติดต่อกันนานๆ แพทย์อาจให้ยาป้องกันโรคแผลในกระเพาะ (เช่น รานิทิดีน, โอมีพราโซล) กินร่วมด้วย

  • ในบางรายแพทย์อาจให้ยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่ สตีรอยด์ตัวใหม่ (เช่น เซเลค็อกซิบ) ยานี้มีข้อดีคือมีผลต่อการเกิดโรคแผลในกระเพาะต่ำ ข้อเสียคือราคาแพง และถ้ากินติดต่อกันนานๆ อาจเกิดการอุดตันของลิ่มเลือดในหลอดเลือดหัวใจและสมองได้ จึงต้องระวังไม่ใช้ในคนที่เป็นโรคหลอดเลือดหัวใจหรือสมองตีบตัน และไม่ควรใช้ติดต่อกันนานๆ
  • ในบางรายแพทย์อาจใช้วิธีฝังเข็มบรรเทาปวด และอักเสบแทนยาเป็นครั้งคราว
  • ในรายที่มีข้อเข่าอักเสบรุนแรง แพทย์อาจฉีดสตีรอยด์เข้าข้อเพื่อลดการอักเสบ สามารถฉีดซ้ำได้ทุก 4-6 เดือน
  • อย่างไรก็ตาม เนื่องจากโรคข้อเสื่อมมักจะ เป็นเรื้อรัง การรักษาดังกล่าวก็เป็นเพียงแต่บรรเทาอาการเป็นครั้งคราว ดังนั้น ผู้ป่วยควรเน้นการปฏิบัติ ตัวอย่างจริงจัง และสม่ำเสมอ จะช่วยให้ลดการใช้ยาลง และหลีกเลี่ยงผลข้างเคียงจากยาได้ในรายที่เป็นมาก เช่น เดินไม่ถนัด ขาโก่ง ปวดทรมาน แพทย์อาจรักษาด้วยการผ่าตัด ซึ่งมีอยู่หลายวิธี วิธีที่ได้ผลดี แต่ค่าใช้จ่ายแพง ก็คือ การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม ซึ่งแพทย์จะพิจารณาใช้วิธีนี้แก่ผู้ป่วยเป็นรายๆ ไป
ภาวะแทรกซ้อน โรคเข่าเสื่อมมักไม่มีภาวะแทรกซ้อนร้ายแรง นอกจากในรายที่เป็นมาก อาจเดินไม่ถนัด ขาโก่ง เข่าทรุดหกล้มได้

อันตรายมักเกิดจากการใช้ยาพร่ำเพรื่อ หรือใช้ยาอย่างผิดๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การซื้อยาชุด หรือยาลูกกลอนที่เข้ายาสตีรอยด์มากินเอง ผู้ป่วยเมื่อกินยานี้ติดต่อกันนานๆ (เพราะช่วยให้หายปวดชะงัด) ก็จะได้รับพิษภัยจากยาสตีรอยด์จนเป็นอันตรายร้ายแรงได้ เช่น ภาวะต่อมหมวกไตฝ่อ, ภาวะติดเชื้อรุนแรงถึงขั้นโลหิตเป็นพิษ เป็นต้น


การป้องกัน
    1. ระวังอย่าให้น้ำหนัก ตัวมากเกิน ควบคุมอาหารที่บริโภค และออกกำลังกายเป็นประจำ
    2. หลีกเลี่ยงการนั่งงอเข่า การเดินขึ้น-ลงบันไดบ่อย

  • โรคนี้พบได้บ่อย เริ่มพบได้ตั้งแต่อายุ 40 ปีขึ้นไป และจะพบมากขึ้นตามอายุ
  • ผู้หญิงจะมีโอกาสปวดเข่าจากโรคเข่าเสื่อมมากกว่าผู้ชาย
  • คนอ้วน คนที่ใช้งานข้อเข่ามาก มีโอกาสเสี่ยง ต่อโรคนี้มากขึ้น

---------------------------------------------------------------------------------


ข้อมูลสื่อ   ชื่อไฟล์: 312-005   นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่: 312  เดือน/ปี: พฤษภาคม 2548
คอลัมน์: สารานุกรมทันโรค   นักเขียนหมอชาวบ้าน: รศ.นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ
ขอขอบคุณภาพจากอินเทอร์เน็ทและข้อมูลจาก https://www.facebook.com/folkdoctorthailand มูลนิธิหมอชาวบ้าน
โพสโดย Anonymous เมื่อ 1 พฤษภาคม 2548 00:00   http://www.doctor.or.th/article/detail/2094

วันพุธที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2558

ความดันโลหิตสูง

ความดันโลหิตสูง
โรคความดันโลหิตสูงเป็นโรคที่พบได้บ่อยในกลางคน ผู้ที่เป็นโรคความดันโลหิตสูงอาจจะไม่มีอาการอะไร บางท่านอาจจะมีอาการปวดศีรษะ หรืออาการของโรคแทรกซ้อน โรคแทรกซ้อนที่สำคัญได้แก่ โรคระบบสมอง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคไต

ทุกๆคนต้องมีความดันโลหิต เพราะความดันโลหิต จะเป็นแรงผลักดัน ให้เลือดไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆของร่างกาย ดังนั้นทุกคนควรจะเรียนรู้เกี่ยวกับความดันโลหิต และรักษาให้ความดันโลหิตอยู่ในเกณฑ์ปกติ เพราะความดันโลหิตสูงจะทำให้เกิดหลอดแข็งและตีบ
เมื่อหัวใจบีบตัวหัวใจจะบีบเลือดไปยังหลอดเลือดแดง ทำให้เกิดความดันโลหิตซึ่งเกิดจากการบีบตัวของหัวใจ และแรงต้านทานของหลอดเลือด หัวใจคนเราเต้น 60-80ครั้ง ความดันก็จะเพิ่มขณะที่หัวใจบีบตัว และลดลงขณะที่หัวใจคลายตัว ความดันโลหิตของคนเราไม่เท่ากันตลอดเวลาขึ้นกับ ความเครียด การออกกำลังกาย การนอนหลับ ค่าปรกติของคนเราคือ 120/80 มิลิเมตรปรอท แต่ไม่ควรเกิน 140/90 หากสูงกว่านี้แสดงว่าคุณเป็นโรคความดันโลหิตสูง

โรคความดันโลหิตสูงเป็นปัจจัยเสี่ยงทำให้เกิดโรคหัวใจ โรคไต โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ โรคอัมพาต โรคหัวใจเป็นโรคที่มีอัตราตายสูง ดังนั้นการป้องกันความดันโลหิตสูงสามารถป้องกันอัตราการตายจากโรคหัวใจ และโรคอัมพาต โรคความดันโลหิตสูงเป็นภัยเงียบที่คุกคามชีวิตของทุกท่านเนื่องจากไม่มีอาการเตือนดังนั้น การจะทราบว่าเป็นความดันโลหิตสูงจำเป็นต้องวัดความดันโลหิต


ปัจจัยเสี่ยงในการเป็นโรคความดันโลหิตสูง
ความดันโลหิตสูงเป็นได้กับทุกคน แต่มีบางกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อความดันโลหิตสูง กว่ากลุ่มอื่น

ปัจจัยเสี่ยงที่ควบคุมไม่ได้ได้แก่
ประวัติครอบครัว ถ้าปู่ บิดา มารดาเป็นความดันโลหิตสูง โอกาสที่บุตรจะมีความดันโลหิตสูงมีมาก ดังนั้นคุณผู้อ่านที่มีคุณพ่อ แม่เป็นความดันโลหิตสูง ควรมั่นตรวจวัดความดันอย่างสม่ำเสมอ อายุ และเพศ วัยก่อนหมดประจำเดือนผู้ชายจะเป็นความดันโลหิตสูงมากกว่าผู้หญิง เมื่อวัยหมดประจำเดือนผู้หญิงจะเป็นความดันโลหิตมากกว่าผู้ชาย ส่านในคนแก่พบความดันโลหิตสูงพอๆกัน โดยมากมักพบความดันในช่วงอายุ 35-50 ปี
เชื้อชาติ พบความดันโลหิตสูงในผิวดำมากกว่าผิวขาว

ปัจจัยเสี่ยงที่ควบคุมได้ได้แก่
น้ำหนัก คนอ้วนพบความดันโลหิตสูงมากกว่าคนผอม โดยเฉพาะคนที่มีดัชนีมวลกายมากกว่า 30 เมื่อลดน้ำหนักความดันจะลดลง
เกลือ ทานเค็มมีแนวโน้มที่จะมีความดันโลหิตสูง
การขาดการออกกำลังกาย
ความเครียด
ความดันโลหิตสูง
การสูบบุหรี่
ไขมันในเลือดสูง
เบาหวาน
อาการของโรคความดันโลหิตสูง
โรคความดันโลหิตสูงส่วนใหญ่จะไม่มีอาการ เนื่องจากความดันโลหิตจะเพิ่มอย่างช้าๆทำให้ร่างกายโดยเฉพาะหลอดเลือดปรับตัวทันขึงไม่มีอาการ ผู้ป่วยความดันโลหิตส่วนใหญ่จะมาด้วยโรคแทรกซ้อนโดยที่ไม่รู้ว่าเป็นความดันโลหิตสูง ดังนั้นจึงแนะนำให้วัดความดันทุก 2 ปีสำหรับคนที่ความดันโลหิตปกติ อาการที่ผู้ป่วยความดันโลหิตสูงที่พาผู้ป่วยมาโรงพยาบาลได้แก่

ปวดศีรษะ
ผู้ป่วยมักจะมีอาการปวดศีรษะในกรณีที่ความดันขึ้นอย่างรวดเร็วหรือเกิดภาวะ Hypertensive crisis โดยทั่วไปความดันโลหิตตัวบน Systolic จะมากกว่า 110 มม ปรอท หรือ Diastolic มากกว่า 110 มม ปรอท อาการปวดศีรษะมักจะปวดมึนๆบางคนปวดตลอดวัน ปวดมากเวลาถ่ายอุจาระ หากเป็นมากจะมีอาการคลื่นไส้อาเจียน

เลือดกำเดาไหล
ร้อยละ 17 ของผู้ป่วยที่เลือดกำเดาไหลจะเป็นความดันโลหิตสูงดังนั้นผู้ที่มีเลือดกำเดาออกต้องวัดความดันโลหิต

มึนงง Dizziness
อาการมึนงงเป็นอาการทั่วๆไปพบได้ในหลายภาวะ เช่นเครียด นอนไม่พอ ทำงานมากไป น้ำตาลในเลือดสูง แต่ก็อาจจะพบในผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง ผู้ป่วยมักจะบอกว่ารู้สึกไม่แจ่มใส สมองตื้อๆ

ตามัว
ในรายที่ความดันโลหิตสูงเป็นมากและมีการเปลี่ยนแปลงของจอรับภาพผู้ป่วยก็จะมีปัญหาทางสายตา

เหนื่อยง่ายหายใจหอบ
อาการหอบ เหนื่อยง่าย เวลาออกแรง เช่น เดิน วิ่ง ทำงาน มีสาเหตุมากมาย เช่น โลหิตจาง(ซีด) โรคอ้วน ความดันโลหิตสูง โรคปอด ต่อมไทรอยด์เป็นพิษ โรคหัวใจ ภาวะหัวใจล้มเหลว (heart failure) แม้แต่ความวิตกกังวล หรือ โรคแพนิค ก็ทำให้เหนื่อยได้เช่นกัน อาการเหนื่อยง่ายจากโรคหัวใจ และ ภาวะหัวใจล้มเหลวนั้น จะเหนื่อย หอบ หายใจเร็ว โดยเป็นเวลาออกแรง แต่ในรายที่เป็นรุนแรง จะเหนื่อยในขณะพัก บางรายจะเหนื่อยมากจนนอนราบไม่ได้ (นอนแล้วจะเหนื่อย ไอ) ต้องนอนศีรษะสูงหรือ นั่งหลับ คำว่าเหนื่อย หอบ ในความหมายของแพทย์หมายถึง อัตราการหายใจมากกว่าปกติ แต่ในความหมายของผู้ป่วยอาจรวมไปถึง อาการเหนื่อยเพลีย หมดแรง เหนื่อยใจ

แน่หน้าอก
อาการต่อไปนี้เข้าได้กับอาการเจ็บหน้าอกจากโรคหัวใจขาดเลือด
เจ็บแน่นๆ อึดอัด บริเวณกลางหน้าอกส่วนใหญ่จะเป็นด้านซ้าย หรือ ทั้งสองด้าน (มักจะไม่เป็นด้านขวาด้านเดียว) บางรายจะร้าวไป ที่แขนซ้าย หรือ จุกแน่นที่คอ บางรายเจ็บบริเวณกรามคล้ายเจ็บฟัน
อาการตามข้อ 1 เกิดขึ้นขณะออกกำลัง หรือทำงานหนัก เช่น เดินเร็วๆ รีบ หรือ ขึ้นบันได วิ่ง โกรธโมโห โดยมากมักจะไม่เกิด 10 นาที อาการดังกล่าวจะดีขึ้นเมื่อหยุดออกกำลัง
ในบางรายที่อาการรุนแรง อาการแน่นหน้าอกอาจเกิดขึ้นในขณะพัก เช่น นั่ง หรือ นอน หรือ หลังอาหาร
กรณีที่เกิดหลอดเลือดหัวใจอุดตัน กล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน อาการจะรุนแรงมาก อาจมีอาการอื่นๆร่วมด้วย เช่น เหงื่อออก มาก เป็นลม (อาการเช่นนี้ยังพบได้ในโรคของหลอดเลือดแดงใหญ่ปริ ฉีก) หมดสติ

ความดันโลหิตต่ำ
ปกติความดันโลหิตยิ่งต่ำยิ่งดีเพราะเกิดโรคน้อย แต่หากความดันโลหิตที่ต่ำทำให้เกิดอาการ เวียนศีรษะ เป็นลมเวลาลุกขึ้นแสดงว่าความดันต่ำไป สาเหตุที่พบได้มีดังนี้
  • ผู้ป่วยที่มีโรคระบบประสาทหรือต่อมไร้ท่อ
  • ผู้ที่นอนป่วยนานไป
  • ผู้ที่เสียน้ำหรือเลือด
เคล็ดลับในการรักษาความดันโลหิตสูง
  1. ตรวจวัดความดันเป็นระยะ
  2. รักษาน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ โดยการลดน้ำหนักลง 10% สำหรับผู้ที่มีน้ำหนักเกิน
  3. งดอาหารเค็มหรือเกลือไม่ควรได้รับเกลือเกิน 6 กรับต่อวัน
  4. รับประทานอาหารไขมันต่ำ
  5. งดการสูบบุหรี่
  6. รับประทานยาตามแพทย์สั่ง
  7. ไปตามแพทย์นัด
  8. ออกกำลังกายตามแพทย์แนะนำโดยการออกกำลังวันละ 30-45 นาทีสัปดาห์ละ 3-5 วัน
  9. รับประทานอาหารที่มีเกลือโปแตสเซียม
  10. แนะนำให้พาพ่อแม่พี่น้องและลูกไปตรวจวัดความดันโลหิต

ความดันโลหิตสูงในเด็ก
เราไม่ค่อยพบความดันโลหิตสูงในเด็ก แต่เด็กก็สามารถเป็นความดันโลหิตสูง การค้นพบความดันโลหิตสูงตั้งแต่แรก จะสามารถป้องกันโรคหัวใจ โรคไต ดังนั้นเด็กควรที่จะได้รับการวัดความดันโลหิตเหมือนผู้ใหญ่ สาเหตุก็มีทั้ง primary และ secondary พบว่าเด็กที่มีน้ำหนักตัวมาก เด็กที่มีประวัติครอบครัวเป็นความดันโลหิต หรือบางเชื้อชาติ กลุ่มเหล่านี้จะมีโอกาสเป็นความดันโลหิตสูง แพทย์แนะนำอาหาร และการออกกำลังกาย หากความดันโลหิตไม่ลงจึงให้ยารับประทาน

คนที่เป็นความดันโลหิตสูงสามารถอบ Sauna ได้หรือไม่
คนที่เป็นโรคความดันโลหิตสูงสามารถอาบน้ำอุ่นหรืออบ Sauna ได้โดยที่ไม่เกิดผลเสีย ผู้ป่วยที่มีอาการแน่นหน้าอก หรือหายใจหอบควรจะหลีกเลี่ยงการอบ Sauna หรือแช่น้ำร้อน และไม่ควรที่จะดื่มสุรา นอกจากนั้นไม่ควรอาบน้ำร้อนสลับกับน้ำเย็นเพราะจะทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้น

---------------------------------------------------------------------------------
ผลิตภัณฑ์สมุนไพรเพื่อสุขภาพจาก บจก.ฟีนิกซ์เฮิร์บ 999 เน็ตเวิร์ค
      
            
---------------------------------------------------------------------------------

จัดจำหน่ายโดย  :  บริษัท ฟีนิกซ์เฮิร์บ 999 เน็ตเวิร์ค จำกัด
สั่งซื้อและเป็นตัวแทนจำหน่ายที่: คุณโสภณ เพิ่มสุข โทร. 095-738-5933, 098-827-7275
Line ID : 0988277275  E-mail : sopon99@gmail.com